
28 มกราคม 1986 ภาพกระสวยอวกาศ ชาเลนเจอร์ ที่แตกออก เป็นเสี่ยงๆ บนท้องฟ้า เป็นหนึ่ง ในความทรงจำฝังใจ และสร้างแผล เป็นรอยใหญ่ ในหน้าประวัติศาสตร์ วงการสำรวจอวกาศ ของประเทศ สหรัฐอเมริกา
คุณครูคนแรกที่ เตรียมขึ้นไปสอนหนังสือ บนอวกาศ เสียชีวิตต่อหน้า ต่อตาเด็กจำนวนมาก ที่กำลังรับชมถ่ายทอดสดอยู่ เช่นเดียวกับ ชีวิตของอีกหก นักบินอวกาศ ผู้เดินทางไปไม่ถึงดวงดาว ตามภารกิจ อย่างที่ควรจะเป็น
เศษซากจาก ชาเลนเจอร์ ตกกระจายไป ทั่วมหาสมุทรแอตแลนติก ยามชายฝั่ง และทหารเรือสหรัฐฯ ร่วมกันเก็บ กู้ชิ้นส่วนมากกว่า 14 ตัน ที่ส่วนมาก ได้รับความเสียหาย จนไม่เหลือสภาพเดิมแล้ว จากการตก กระแทกผิวน้ำ ด้วยความเร็ว สูงกว่า 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แต่มีลูกบอล ลูกหนึ่งลอยขึ้นมา จากผิวน้ำ ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูล แล้ว พบว่าเป็นหนึ่ง ในสิ่งของ ส่วนตัวของ แอลลิสัน โอนิซึกะ นักบินอวกาศเอเชียน-อเมริกันคนแรก ที่เสียชีวิตอยู่ในกระสวย อวกาศลำนี้
แอลลิสัน มีลูกสาวชื่อ จาเนล ผู้ศึกษาอยู่ที่ เคลียร์เลค ไฮสคูล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ กับศูนย์อวกาศ จอห์นสัน ศูนย์ควบคุมปฏิบัติ การทางอากาศ ขององค์การนาซา ซึ่งถ้าคุณเรียน อยู่ที่นั่นมันแทบไม่ใช่เรื่องยาก เลยที่คุณจะรู้จัก กับลูกของนักบินอวกาศ หรือเหล่าบุคลากร ของนาซา
ทั้งพ่อและ ลูกต่างชื่นชอบ ในกีฬาฟุตบอล หรือ ซอคเกอร์ ตามแบบที่ ชาวอเมริกันเรียก แอลลิสัน เคยทำหน้า ที่เป็นผู้ช่วยโค้ชให้ กับทีมของลูกสาว ตนเองอยู่ช่วงสั้นๆ และมักปลีกเวลาว่างมาชม เกมอยู่เสมอ
“แม้ในช่วงกัก ตัวก่อนไปอวกาศ (เพื่อป้องกันอาการป่วย) เขาก็แอบออกมาดู พวกเราแข่ง เขามักซุ่ม อยู่ตรงมุมรั้ว และเมื่อเราหัน หน้าไปมอง เขาก็จะหายตัวไปแล้ว” จาเนล เล่าถึงวีรกรรมคุณพ่อของเธอ
เมื่อทราบว่า แอลลิสัน จะได้ไปอวกาศอีกครั้ง จาเนล และเพื่อนร่วมทีมฟุตบอล ได้ส่งลูกบอลฝึก ซ้อมธรรมดาลูกหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นของแบรนด์ ที่โด่งดังใดๆ โดยให้สมาชิก ในทีมเซ็นชื่อแล้วส่งไปให้คุณพ่อ นำติดตัวไป บนอวกาศด้วย
นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เลย เพราะนักบินอวกาศ สามารถนำอะไรก็ได้ (ที่ไม่ติดไฟและไม่เป็นอันตราย) ขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่ง ในของใช้ส่วนตัว ซึ่งธรรมเนียมนี้ มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่จุดแรกเริ่มของการสำรวจอวกาศ เมื่อราว 50-60 ปีก่อนมาแล้ว
และในช่วงไม่กี่วันก่อนปล่อยยาน แอลลิสัน ก็ได้แอบออกมาหาลูกสาวของเขาอีกครั้ง เจ้าตัววิ่งจ็อกกิ้งลัดผ่านสนามที่เด็กๆกำลังฝึกซ้อม เพื่อตรงมารับลูกบอลใบดังกล่าว ที่มีการเขียนคำว่า “โชคดีนะ ทีมนักบินกระสวยอวกาศ” ไว้บนนั้น
ลูกบอลดังกล่าวถูกใส่ในกระเป๋าดัฟเฟิลใบเล็กที่อยู่ในล็อกเกอร์บนกระสวยชาเลนเจอร์อีกที แต่เพียง 77 วินาทีหลังจากปล่อยยาน ลูกบอลดังกล่าวได้กลายสภาพจากของใช้ส่วนตัวมาเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนความทรงจำของภารกิจนี้ในทันที
แม้จะยังคงสภาพความเป็นลูกบอลได้เหมือนในวันที่เกิดเหตุ แต่เวลาที่ล่วงเลยไปกว่า 3 ทศวรรษ ได้ส่งให้ลูกบอลดังกล่าวถูกลืมเลือนไปบ้าง ลายเซ็นที่เคยเด่นชัดก็เริ่มจางซีดลง และแม้มันจะถูกจัดแสดงอยู่ในตู้โชว์ของโรงเรียนเคลียร์เลค แต่หลายคนก็เดินผ่านมันไปโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือหนึ่งในสิ่งที่เหลือรอดมาจากกระสวยชาเลนเจอร์
แต่แล้วในปี 2016 ลูกบอลดังกล่าวได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศอีกครั้ง โดยได้ เชน คิมบรอกห์ ผู้บัญชาการของภารกิจ 50 บนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มีลูกชายศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ ได้นำลูกบอลจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างที่มันควรเป็น
ภาพของลูกบอลที่มีสีซีดเหลือง มีรอยลอก และลายหมึกที่ซีดจางกับพื้นหลังที่เป็นโลกสีคราม คงไม่อาจทดแทนความสูญเสียของ 7 ชีวิตที่จากไปได้ แต่มันก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่าเราไม่เคยลืมพวกเขาและไม่เคยยอมแพ้เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา
“ผมเป็นเกียรติมากที่ได้นำมรดกตกทอด จากกระสวยชาเลนเจอร์เดินทาง มาสู่สถานีอวกาศนานาชาติ การระลึกถึงลูกเรือชาเลนเจอร์เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งสำหรับเหล่า นักบินอวกาศและพวกเราทุกคนที่นาซา” คิมบรอกห์ กล่าวหลังถ่ายภาพประวัติศาสตร์ภาพนี้ขึ้นมา
“ผมหวังว่าเมื่อบอลลูกนี้กลับไปยัง เคลียร์เลค ไฮสคูล มันจะเป็นเครื่องเตือนใจให้กับคนรุ่นหลังไปตราบนานเท่านาน”
และคงไม่มีอะไรปิดท้ายบท ความนี้ได้ดีไปกว่า คำพูดของ แอลลิสัน โอนิซึกะ ที่ถูกพิมพ์ไว้ บนในหน้าสุดท้ายของ พาสปอร์ตสหรัฐฯ ทุกเล่มว่า “ผู้คนในทุกเจเนอเรชั่นต่างมีหน้าที่ในการปลดพันธนาการทางความคิด สำหรับมองโลกใบใหม่ของเรา.. เพื่อมองหาเทือกเขา ที่สูงใหญ่กว่าของคนรุ่นก่อน”
ร่วมอาลัยถึง 7 ผู้ล่วงลับ ในโอกาสครบรอบ 36 ปี ของการ “หลุดจากโลก ใบหมองหม่น เพื่อเข้าสู่อ้อมกอดพระเจ้า” ในเหตุการณ์ กระสวยอวกาศชาเลนเจอร์